Group Link

Blogger  RSS กูเกิล+ Pinterest instagram Twitter เฟซบุ๊ค E-MAIL wordpress

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปิดศึก ห้างสรรพสินค้า (ตอนที่ 2 )


ทุกวันนี้ พฤติกรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในเมือง (หลวง) ดูจะแข่งขัน ดิ้นรน เร่งรีบ เพราะความแออัด บีบรัดทางเศรษฐกิจ และข้อจำกัดด้านเวลา ชาวกรุงส่วนใหญ่จึงนิยมบริโภคและอุปโภคในศูนย์การค้าในลักษณะ one stop services…และนิยมพักผ่อน (Relax) กันในช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ขนาดยักษ์ ซึ่งครบเครื่องและมีสิ่งดึงดูด เร้าใจ(มากๆ ก็ยิ่งดี)
แน่นอนว่า…ห้างสยามพารากอน ย่อมเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของชนทุกวัย ทุกระดับชั้น เพราะที่นี่สามารถสนองตอบต่อทุกความต้องการของทุกผู้คนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ!

2. สยามพารากอน…สมราคา The Pride of Bangkok?

ทุกเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก จะต้องมีแหล่งสังสรรค์ บันเทิง หรือช้อปปิ้งขนาดยักษ์ไว้ประดับเมืองทั้งนั้น เพื่อเป็นแม่เหล็ก (Magnet) ดึงดูดนักท่องเที่ยว อาทิ ฮ่องกง (Pacific – Place) สิงคโปร์ (Takashiyama) นิวยอร์ก (5thAvenue) ปารีส (ชอง เอลิเซ่) ลอนดอน (Harrod) เป็นต้น
กล่าวสำหรับกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น และนโยบายผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งอาเซียน(Tourists Hub) ฯลฯ จะสมบูรณ์ได้ก็จำต้องมี Shopping Complex ขนาดยักษ์/หรูหรา/อลังการ ไว้สนับสนุนด้วย…The Pride of Bangkok (สยามพารากอน) จะสานฝันนั้นให้เป็นจริงได้หรือไม่? เราลองมาเจาะลึกเข้าไปดูถึงจุดแข็งและศักยภาพของ “ที่สุดแห่งความภาคภูมิของกรุงเทพมหานคร” ซึ่งตั้งบนทำเลทอง (สยามสแควร์) ของเมืองไทย กันพอหอมปากหอมคอ ดังนี้ครับ

(1)     ความอลังการ (อภิมหาโปรเจ็กต์) บนพื้นที่ 50 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 500,000 ตารางเมตร ใช้เม็ดเงินลงทุน15,000 ล้านบาท โดยมีจุดหมายให้เป็น ‘World Class Shopping Destination’ ใหญ่ที่สุดในเอเชีย! โดยประกอบด้วย10 สุดยอดไฮไลท์ อาทิ
(1.1)  โลกแห่งความหรูหรา (Facet of Luxury) โดยเป็นศูนย์กลางอัญมณีและนาฬิกาชั้นนำของโลก เช่น Vanceleet & Arpels, Cartier, Bulgari, Mikimoto เป็นต้น
จากสถิติปี 2004 Switzerland ส่งนาฬิกามาขายในไทยถึง 194.5 ล้านฟรังก์สวิส (5,800 ล้านบาท)ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้คลั่งไคล้นาฬิกาสวิสติดอันดับที่ 13 ของโลก ทั้งๆ ที่นาฬิกาไฮเอนด์ เช่น Patek, Philippe, Vacheron, Frank Muller เป็นต้น สนนราคาเรือนละหลายๆ แสนถึงล้านๆ บาท!…ในอนาคตหากมีการลดหรืองดอากรขาเข้า 40% ตามกฎ FTA ผนวกกับการคืน VAT 7% แก่นักท่องเที่ยว ย่อมทำให้นาฬิกาเหล่านี้มีราคาถูกลง ซึ่งจะช่วยเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นอีกทางเลือกช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวทั่วโลก!
(1.2) โลกแห่งแฟชั่น (Facet of Fashion) โดยเป็นศูนย์รวมของแฟชั่นแบรนด์เนมระดับโลกทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น Giorgio Armani, Dolce Cabbana, Bottega Veneta, Jimmy Choo เป็นต้น
                            การผลักดันให้แบรนด์ไทยไปตั้งร้านกระทบไหล่กับแบรนด์ระดับโลกเช่นนี้ นับเป็นผลดี เพราะประหนึ่ง “แจ๊คสู้กับยักษ์ใหญ่” ซึ่งไม่มีอะไรสูญเสีย หากแบรนด์ไทยของเราเกิดฟลุ้กเข้าตาขาใหญ่เหล่านี้ ย่อมเป็นการเปิดช่องทางสู่ตลาดโลกได้ไม่ยาก โดยอาจเป็นในรูปการร่วมทุนกับแบรนด์ดัง หรือขาย Franchise  เป็นต้น ซึ่งสามารถจัดหน่วยภาษี (Tax Entity) และจัดโครงสร้างธุรกิจได้หลายแบบ แต่ละแบบมีข้อดี/ข้อเสีย และภาระภาษีแตกต่างกันไป
(1.3)  โลกแห่งการเรียนรู้และพัฒนาการ  (Facet of  Edutainment & Exploration) คือ โรงเรียนสอนภาษา คอมพิวเตอร์ ดนตรี ศิลปะ และการแสดง โรงเรียนเพื่อพัฒนาการเด็กเล็ก เช่น วิทยาลัยดุริยางศิลป์, Bangkok Dance, Little Gym และ Net Design เป็นต้น รวมถึง Aquarium ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกและทันสมัยที่สุดในเอเชียด้วยงบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท
               ธุรกิจการศึกษา ถือเป็นสิ่งมีประโยชน์ยิ่งยวดต่อเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ดังนั้น รัฐบาลเกือบทุกประเทศจะให้การสนับสนุนส่งเสริมเต็มที่ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (หรือ Good and Service Tax) ในอัตราต่ำกว่าสินค้าทั่วไป…แต่ในกรณีของประเทศไทย ยกเว้นให้ทั้งหมด - ภาษีเงินได้ (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล) และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ เฉพาะกรณีได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาฯ (ซึ่งมีระเบียบการและขั้นตอนที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจมาก) แต่ถึงอย่างไรภาครัฐก็ยังส่งเสริมการศึกษาอย่างต่อเนื่องด้วยการยกเว้น VATสำหรับการขายนิตยสาร สิ่งพิมพ์ ตำราเรียนอีกทอดหนึ่งด้วย ดังนั้นจึงสบายใจได้ว่าผู้ทำธุรกิจด้านนี้จะปลอดภัยไร้กังวลด้านภาษีทั้งปวง!
                    ผู้เขียนชอบแวะดูสินค้าที่ร้าน Asia Books และ Kinokuniya (พื้นที่ 2,000 ตร.เมตร) ซึ่งเป็นร้านขนาดใหญ่มากที่ขายนิตยสารและตำราต่างประเทศ แม้ว่าจะมีลูกค้าแวะเวียนเข้าออกจำนวนพอสมควร แต่ก็ยังเทียบเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก สาเหตุคงเป็นที่ปัญหาภาษา (อังกฤษ) และราคาขายยังแพงมากอยู่ แม้จะไม่ต้องเสีย VAT 7%ก็ตาม…จึงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดผลทดสอบ IQ และ EQ ของนักเรียนไทยจึงได้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐานสากล!
(1.4) โลกแห่งความบันเทิง  (Global Entertainment Phenomenon) ซึ่งประกอบด้วยโรงภาพยนตร์Cineplex ที่ทันสมัย 16 โรง (รับผู้ชมได้ถึง 5,000 คน) โรงภาพยนตร์ Imax 3 มิติ ขนาด 600 ที่นั่ง สถานออกกำลังกาย(California Wow) โรงละคร Siam Opera (ความจุ 6,000 ที่นั่ง) ซึ่งถือเป็นแหล่งดูหนัง ฟังเพลงขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดของไทย ที่ไม่มีชาติไหนเลียนแบบได้ (แฮ่ๆ) จนมีคำกล่าวกันในหมู่นักธุรกิจว่า “ไม่มีแหล่ง entertain ใดๆ ในโลกจะดีและถูกเท่าประเทศไทยอีกแล้ว!” (เอ! จะอายหรือภูมิใจดีหนอ?)
(1.5) Paragon Department Store - The Shopping Phenomenon ด้วยขนาดพื้นที่ถึง 80,000ตารางเมตร (ว้าวว!) และสินค้านับแสนรายการที่ถูกคัดสรรมาสนองตอบอย่างจุใจ
                            จะเป็นด้วยขนาดพื้นที่ที่ใหญ่เกินไปหรืออย่างไร จึงทำให้บางชั้น บางแผนกยังมีลูกค้าบางตา ซึ่งก็คงเหมือนๆ กับห้างสรรพสินค้าชั้นนำอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศนั่นแหละ ที่ต้องเผชิญกับสภาพการแข่งขันรอบด้าน จึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์และแคมเปญการตลาดหลั่งไหลออกมาตลอดทั้งปี (ด้วยงบ 300 ล้านบาท) เช่น การหมุนเวียนลด แลก แจก แถม  การให้ส่วนลด 10% - 20% การจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้า ณ Grand Hall เช่น เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2549 คืองาน ‘Bangkok World Watch & Jewelry 2006’ ที่สยามพารากอน ซึ่งข่าวว่าจัดงาน 19 วัน ฟันยอดขายไปถึง 300 ล้านบาท เชียว!
            คู่แข่งสำคัญของห้างสรรพสินค้าก็คือ ระบบการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต (e – commerce) ซึ่งเป็นเสมือนสงครามกองโจรที่กลุ่มธุรกิจ SME ใช้เป็นกลยุทธ์ติดต่อค้าขายกับลูกค้าทั่วโลก…ธุรกิจ e – commerce จึงเป็นปัญหาที่สรรพากรของประเทศต่างๆ กำลังปวดเศียรว่าจะสืบทราบธุรกรรมว่ามีการค้าได้อย่างไร และที่ไหน กล่าวคือประเทศใดเป็นจุดที่เกิดแหล่งเงินได้ (source country) เพื่อจะได้ไม่ขัดแย้งกับประเทศถิ่นที่อยู่ (Residence Country)เป็นต้น

(2) การร่วมพันธมิตรธุรกิจ อภิมหาโปรเจ็กต์ ‘สยามพารากอน’ เป็นการร่วมทุน (Joint Venture) ฝ่ายละ50% ระหว่างค่าย The Mall Group-The Emporium และบริษัทสยามพิวรรธน์ (ศูนย์การค้าสยามและโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนทัล) ซึ่งถือว่าทั้ง 2 กลุ่ม เคยเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจ แต่หันมาจับมือผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกัน เพื่อครองความเป็นผู้นำทางธุรกิจเหนือคู่แข่งทั้งมวล
‘เกรียงศักดิ์  ตันติพิภพ’  (Chief Marketing Officer) เปรียบเทียบ The Emporium เหมือน Paris คือ เล็กกระชับ แต่มีความโก้และหรู ส่วน Siam Paragon เสมือน New York คือ มีความยิ่งใหญ่ตื่นตาตื่นใจ มีความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา ดังนั้น วิสัยทัศน์ทางธุรกิจ (Corporate Concept) จึงวางให้ ‘พารากอน’ เป็น World Class Shopping Destination ส่วนห้างดิเอ็มโพเรียมก็จะมีภาพลักษณ์เป็น Ultimate Shopping Complex
การร่วมพันธมิตรธุรกิจครั้งนี้ ได้จัดตั้งเป็น ‘บริษัทสยามพารากอน รีเทล จำกัด’ ด้วยทุนจดทะเบียน 600ล้านบาท ถือหุ้น    ฝ่ายละ 50 : 50 กรณีจึงถือว่าเกิดหน่วยภาษี (Tax Entity) ใหม่ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา30% ของกำไรสุทธิ และเสีย VAT 7% จากรายได้ค่าบริการ (%GP) ที่เรียกเก็บจากการรับฝากขายสินค้า (Consignment)รวมถึงรายได้จากค่าเซ้งพื้นที่ของร้านค้าย่อยทั้งหลายในศูนย์การค้า ฯลฯ ส่วนเงินปันผล (ถ้ามี) ที่จ่ายแก่บริษัทผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ราย นั้น ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ม.65 ทวิ (10)             แห่งประมวลรัษฎากร)
แฮ่ๆ กรณีนี้ หากเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้น เป็นรูปบุคคลธรรมดาและนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการเครดิตภาษีเงินปันผลตาม ม.47 ทวิ  ยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายหุ้น(Capital Gain) อีกต่างหาก…และหากขอ BOI ได้ด้วย ก็จะยิ่ง Happy Ending มากๆ เลยจ้า!

(3)   Royal Paragon Hall  ซึ่งมีพื้นที่จัดประชุมขนาด 15,000 ตร.เมตร ออกแบบให้เป็น State of the Artด้วยความสมบูรณ์แบบและโดดเด่น พร้อมระบบแสง สี เสียง และอุปกรณ์ไฮเทคที่ทันสมัยมาก จึงเหมาะกับการจัดงานมหกรรมขนาดใหญ่ระดับโลกได้เลย
พอกล่าวถึงเรื่องศูนย์ประชุม/ศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่เช่นนี้ ทำให้นึกไปถึง ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ ซึ่งมีความสวยงามและได้มาตรฐานสากลเพียงไม่กี่แห่งของไทย รวมถึงการเพิ่มศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่นภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น ก็จะช่วยเสริมให้การสร้างฝัน การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียนให้เป็นจริงได้!
กล่าวสำหรับ Royal Paragon Hall ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ดีก็ต้องรอให้ส่วนของโรงแรมสร้างเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้ผู้เข้าประชุมเข้าพักพร้อมสรรพ!
ความจริง โรงแรม 5 ดาว (พื้นที่ 20 ไร่ ที่ด้านหลังห้างฯ) ภายใต้การบริหารของเครือโรงแรม Royal Kempinski โดยแวดล้อมด้วยสวนและหลากพันธุ์ไม้ต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กขนาดใหญ่ ที่จะสร้างมนต์ขลังให้แก่ห้างพารากอน โดยต่างเสริมส่งซึ่งกันและกันให้ธุรกิจร่ำรวยยิ่งขึ้น (และรถติดมากขึ้น) เป็นทวีคูณ (แฮ่ม!)
ในแง่ของศูนย์การค้าขนาดใหญ่เช่นนี้ ต้องยอมรับว่าพื้นที่บางส่วนอาจได้กำไรน้อย/หรือขาดทุน แต่ก็จำต้องมีไว้เพื่อเป็นแม่เหล็ก (Magnet) ดึงดูดลูกค้า/สร้างความคึกคัก เพื่อสามารถขายพื้นที่แก่ร้านค้าย่อยได้ง่าย ซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่เป็นก้อนและเป็นกอบเป็นกำ…ซึ่งในภาพรวมต้องยอมรับว่าวันนี้ของ ‘สยามพารากอน’ กลับประสบความสำเร็จเกือบทุกภาคส่วน!



ที่มา : อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์


BrandAge Magazine


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น